คราฟต์เบียร์ เป็นเบียร์โฮมเมดที่ผลิตจากโรงกลั่นอิสระรายเล็ก เป็นเบียร์ทำมือทุกขั้นตอนทั้งการหมัก บ่ม ต้มเอง ทำให้ได้เบียร์รสชาติแปลกใหม่ที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง นั้นคือเสน่ห์ของคราฟต์เบียร์ ซึ่งต่างจากเบียร์ประเภทอื่น ๆ ที่มีรสชาติเฉพาะตัว เรียกได้ว่าทั้งคนผลิตสนุกและ คนชิมก็ได้มีโอกาสลองรสชาติเบียร์ไม่ซ้ำใครนั่นเอง
เราจะพาไปรู้จัก 10 สุดยอดแบรนด์คราฟต์เบียร์ไทย ที่มาพร้อมความแปลกใหม่ที่น่าสนใจทีคนส่วนใหญ่อาจยังไม่เคยลิ้มลอง เรารวบรวมมาให้ทำความรู้จักและแนะนำให้ตามไปลิ้มลอง
Chiang Mai Beer
คราฟต์เบียร์ถูกกฎหมายรุ่นบุกเบิกที่โลดแล่นในตลาดมานับปี ต้มกันมาตั้งแต่ปี 2015 มาถึงวันนี้ เชียงใหม่เบียร์ยกทีมกันไปผลิตที่โรงเบียร์ในประเทศลาว บรรจุขวด และนำกลับเข้ามาแบบถูกกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันเบียร์เชียงใหม่มีวางขายในรูปแบบขวดอยู่ 2 ฉลากด้วยกัน คือ Chiang Mai Weizen ซึ่งเป็นเบียร์เฮเฟอไวเซ่นที่ใช้ข้าวสาลีจากอำเภอฝางของจังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในวัตถุดิบ ซ่าเบา ๆ เนื้อเบียร์กลาง ๆ ดื่มได้สบาย มีรสหอมหวานทานง่าย และอีกฉลากคือ Red Truck IPA ซึ่งเป็นเบียร์ไอพีเอที่สร้างความแตกต่างด้วยคาราเมลมอลต์ที่เด่นชัด และรสชาติที่ไม่ขมมากนัก
Devanom
เบียร์เทพพนมเป็นผลงานจากสองพี่น้องนักต้มที่ใช้เวลาทั้งหมดฝึกฝนจนได้เบียร์ที่ได้รสชาติมาตรฐานตามที่ต้องการ อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการทำ “ฟาร์มฮอปส์” ชื่อเดียวกันที่โด่งดังทั้งในวงการคราฟต์เบียร์ไทยและเกษตรกรรม เบียร์เทพพนมการันตีได้จากรางวัล Best IPA เวที Beer Camp: Fight Club ร่วมกับ Wheat Beer ของ Triple Pearl เป็นอีกหนึ่ง IPA ที่ต้องหามาชิมให้ได้
Full Moon Brewworks
เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2010 ในฐานะโรงหมักเบียร์อิสระที่จังหวัดภูเก็ต (และปัจจุบันก็ยังเปิดให้บริการอยู่) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการคราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมายที่โด่งดังที่สุดในประเทศ ก่อนจะดำเนินการผลิตบรรจุขวดครั้งแรก เมื่อกลางปี 2015 ที่ผ่านมาในชื่อ Chalawan Pale Ale ที่พัฒนามาจากสูตรที่เคยขายแบบสดที่ร้าน โดยไปผลิตกันที่โรงเบียร์ในออสเตรเลีย และนำเข้ามาแบบถูกกฎหมายเป็นเจ้าแรกๆ ชาละวันเป็นเบียร์ดีกรีรางวัลระดับนานาชาติที่ไล่ล่าเหรียญมาแล้วหลายรายการ เป็นคราฟต์เบียร์ที่มีรสชาติสมดุลย์สวยงามดี ดื่มง่ายไม่ขมมากและหอมฮอปส์หวานกริ๊บ ด้วยรสชาติที่โดดเด่น หอมติดกลิ่นลิ้นจี่ขวดนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีโลกอย่าง World Beer Awards 2016 อีกด้วย
Golden Coins
อีกหนึ่งสำนักดังตัวท็อปในวงการคราฟต์เบียร์บ้านเรา ผู้เป็นทั้งกลุ่มคนบุกเบิกการทำคราฟต์เบียร์ และเปิดบาร์ที่เสิร์ฟเฉพาะไทยคราฟต์เบียร์เท่านั้นแห่งแรกในกรุงเทพฯ เปิดหัวป้ายมาด้วยเบียร์ชื่อ Wish/Do เบียร์แบบอเมริกันที่ผู้ผลิตใส่ ฮอปส์กันไม่ยั้งมือ คนชื่นชอบกันเยอะ ที่ค่อนข้างดื่มง่าย แต่ยังคงคาแรกเตอร์ขมลึกแบบต้นฉบับไว้ ปัจจุบันยังมีเบียร์แบบอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น พิลสเนอร์ แอมเบอร์เอล ครีมเอล ไปจนถึงสเตาท์ ซึ่งวางขายในรูปแบบเบียร์สด และหาลองได้ที่ร้านของสำนักบริเวณเอกมัยซอย 10
Mahanakorn Brewery
มหานคร เป็นคราฟต์เบียร์ที่เล่นกับของไทยๆ อย่างชัดเจนในทุกตัวที่ผลิตออกมา รสชาติเน้นความสดชื่น บอดี้ไม่หนัก เหมาะกับอากาศบ้านเรา เช่น Simply Red Ale เป็นตัวที่ใช้ข้าวกล้องหอมมะลิเป็นส่วนประกอบ ให้กลิ่นหอมแบบ Roasty หน่อยๆ และขมจากฮอปส์ อีกตัวที่ให้คะแนนความสร้างสรรค์คือ เปียกปูนเบียร์ หรือ Siam Stout สเตาต์สไตล์ไทยๆ ผสมกาบมะพร้าวเผา น้ำตาลมะพร้าว และใบเตย ครบสูตรที่เปียกปูนควรมีในรูปแบบพร้อมดื่ม แล้วก็อย่าลืม เบียร์แบบไวท์เอลที่ได้รับความนิยมของค่ายนี้ก็คือ Mahanakhon White Ale นั่นเอง เป็นวิทเบียร์สไตล์เบลเยี่ยมที่ดื่มง่าย ไม่ซับซ้อน และให้ความสดชื่นได้ดี
Outlaw Brewing
เอาท์ลอว์ เป็นคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยที่ปรุงขึ้นโดยฝีมือของบุรุษต่างชาติแดนไกลที่มาปักหลักต้มคราฟต์เบียร์ในเมืองไทยเพราะหลงใหลเสน่ห์ของจังหวัดเลย แม้ว่าจะเปิดตัวในไทยไม่นานแต่ถือว่ามีประสบการณ์การต้มเบียร์ยาวนานกว่า 20 ปีตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่ที่แคนาดา เบียร์เอาท์ลอว์นั้นเป็นที่รู้จักกันในวงการคราฟต์เบียร์ไทยดีว่ามีคุณภาพสูง และเบียร์ฉลากแรกที่ใช้ชื่อว่า Mosaic IPA ตามชนิดของดอกฮอปส์ที่ใช้นั้นก็ยังคงมีรสชาติหนักแน่นสมฝีมือตามเคย เบียร์อีกตัวที่ขึ้นชื่อของแบรนด์ ได้แก่ Gateway IPA แอลกอฮอล์ 6.5% บอดี้เบาๆ กลิ่นออกไปทางเสาวรส ดื่มกันได้ลื่นคอสบายอารมณ์เลย
Sandport
จากคราฟต์เบียร์ใต้ดินเมื่อหลายปีก่อนได้ก้าวสู่การผลิตอย่างถูกกฎหมาย และได้นำเสนอเบียร์เท่ ๆ ออกมาก่อน 2 ป้ายด้วยกัน นั่นคือ Bang Bang IPA ซึ่งเป็นไอพีเอที่มีรสชาติเต็มมาดอเมริกัน และ Wheat off the Wall ซึ่งเป็นวิทเบียร์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครด้วยฮอปส์ที่อัดแน่นเน้น ๆ และอีกหนึ่งเบียร์หายาก แต่มีชื่อเสียงเลื่องลือในรสชาติมาก โดยเฉพาะ Too Much Coffee Porter เบียร์เข้มหอมกลิ่นกาแฟ ที่ไม่ต้องเป็นคอกาแฟหรือชอบเบียร์ดำก็เข้าใจได้ง่ายๆ
Stone Head
เป็นเบียร์คราฟต์น้องใหม่มาแรงอีกยี่ห้อหนึ่งในวงการบ้านเรา สำนักผู้โด่งดังจากการไปตั้งโรงผลิตเบียร์ขึ้นที่เกาะกง กัมพูชา และนั่นก็ทำให้ Stone Head ถือว่าเป็นเบียร์ยี่ห้อล่าสุด (หลังจากชาละวัน และเชียงใหม่เบียร์) ที่จำหน่ายในประเทศของเราแบบถูกกฎหมาย แนะนำให้เริ่มจาก Seven Days Witbeer สไตล์เบลเยียม หอมนุ่มกำลังดี ตัวอื่นที่โดดเด่นเช่น Tuk Tuk Cream Ale ซึ่งเป็นเบียร์ที่มีท่าทีคล้ายกับเบียร์ลาเกอร์ทั่วไปจึงสามารถเข้าใจได้ง่ายมาก และ The Dark Side ซึ่งเป็นสเตาท์รสเช้ม หอมกลิ่นมอลต์คั่วและมีเนื้อเบียร์ที่แน่นหนึบกำลังดี
Taopiphop ALE Project
แบรนด์ที่ทำคราฟต์เบียร์จากความรัก ต้มจนถูกจับในข้อหาทำเบียร์เถื่อน แต่ในวันนี้ได้เริ่มต้นผลิตคราฟต์เบียร์อย่างถูกกฎหมายขึ้นในที่สุด เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และลงมือทดลองทำเบียร์จนได้เข้าไปทำงานที่ Mikkeller เกือบปี ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น จากตอนแรกที่มีเป้าหมายที่อยากจะทำเบียร์ให้กินได้ กลายมาเป็นอยากเพิ่มสีสันให้กับเบียร์ด้วยการกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นของไทยเข้าไปผสมผสาน และอยากทำเบียร์ให้เหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด และค้นพบว่าเบียร์ประเภทเซซองสามารถเก็บในอุณหภูมิสูงถึง 35 องศา เหมาะกับอากาศบ้านเรา เบียร์ของเขาจึงออกไปทางดื่มง่าย บอดี้เบาๆ และยังเป็นประเภทเบียร์ที่คนไทยไม่ค่อยทำกัน จากความชื่นชอบในเบียร์เปรี้ยวแบบต่าง ๆ ของเขา ก็ได้นำมาสู่เบียร์ฉลากแรกคือ Hurtster Saison ซึ่งเป็นเบียร์เซซงรสฉ่ำสดชื่นดี ดื่มง่ายด้วยแอลกอฮอล์ 4.9% มีรสยีสต์ติดเปรี้ยวนิด ๆ
Triple Pearl
หนึ่งในนักเรียนรุ่นแรกของชิตเบียร์ ณ เกาะเกร็ด ที่ถนัดเบียร์สไตล์วิทเบียร์มากเป็นพิเศษ การันตีความเป็นนักทำเบียร์มือดีด้วยรางวัล Best Wheat Beer จากเวที Beer Camp: Fight Club เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้นำวิทเบียร์ชื่อ Weisse Pearl ของเขาออกนำเสนอต่อสาธารณชนเป็นฉลากแรก และได้รับความนิยมเป็นอย่างดีด้วยรสชาติที่ดื่มง่าย หอมชื่นใจ